การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์ บทเรียนจากเวียดนาม
โดย Trizit B - อาทิตย์, 24 มิถุนายน 2007, 02:04PM
 

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์

บทเรียนจากเวียดนาม

                        โดย ผศ. ไตรสิทธิ์  เบญจบุณยสิทธิ์

            กล่าวกันว่าเวียดนามเป็นประเทศคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับเมืองไทย คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงไปนัก ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปดูความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่ผ่านมา จะพบว่าเวียดนามมีอัตราการเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยด้วย ค่าเฉลี่ยอัตราการเพิ่มของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศระหว่างปี 2000 ถึง 2004 ของเวียดนามเท่ากับ 7.1% ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 5.1%   และตัวเลขในปี 2005 และ 2006 ของเวียดนามเติบโตขึ้นเท่ากับ 7.5% และ 8.2% ตามลำดับ  แต่ตัวเลขของไทยเรากลับลดลงอยู่ที่ 4.5% และ 5.0%   เราจะมาดูกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

            สาเหตุสำคัญที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นคือนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่เรียกว่านโยบายโด่ยเหมย ( Doi Moi ) ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำการค้าโดยอิสระเสรีมากขึ้น    แต่นอกเหนือจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ซึ่งเริ่มในปี 1986 แล้ว   ต้องยอมรับว่าชาวเวียดนามเป็นคนที่ขยันขันแข็งใฝ่รู้ พยายามพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าตลอดเวลา และรัฐบาลเวียดนามก็ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปี 2549-2553 ซึ่งระบุถึงเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าดังนี้

1.      ดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ( Doi Moi )

2.      สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม

3.      พัฒนา Knowledge – based Economy

4.      ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเร่งรัดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น  เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางไปดูงาน ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามร่วมกับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ทำให้มีโอกาสได้พบผู้เชี่ยวชาญ TRIZ ชาวเวียดนาม ชื่อ  Duong Xuan Bao และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำมาฝากไว้ ณ ที่นี้

 

            Mr. Duong Xuan Bao เป็นผู้หนึ่งในจำนวนนักศึกษาเวียดนามทั้งหมด 6 คน ที่ได้ไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ TRIZ  และความคิดสร้างสรรค์กับอัลต์ชูลเลอร์โดยตรงที่ Public Institute Inventive Creativity ในเมืองบาคู ประเทศรัสเซียในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม  TRIZ  เป็นชื่อย่อในภาษารัสเซียซึ่งหมายถึงแนวคิดในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรม

            หลังจากสำเร็จการศึกษา เขาได้กลับมาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ TRIZ และความคิดสร้างสรรค์ในเมืองฮานอยตั้งแต่ปี 1977 โดยเปิดหลักสูตร Creativity Methodology (CM) ซึ่งมีผู้สนใจมาเรียนกับเขามากกว่า 12,000 คน

            Mr. Duong Xuan Bao ได้ทำงานที่แผนกการประดิษฐ์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะออกมาตั้งมูลนิธิเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนครฮานอย   เขาได้ให้แง่คิดดีๆเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไว้ว่า

            “…ยังไม่มีวิชาใดที่เหมือนวิชานี้  ระบบมหาวิทยาลัยของเราเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์มากไป   ทั้งที่วิทยากรทางด้านความคิดสร้างสรรค์จะเป็นสิ่งที่นำพาเราไปสู่โลกในศตวรรษหน้า..”

“..การศึกษาในเวียดนามติดอยู่ในกรอบไม่ยืดหยุ่น และไม่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์    ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นอาวุธสำคัญ   แต่กลับปรากฏว่ามีบริษัทเวียดนามเป็นจำนวนมากผลิตสินค้าอย่างเดียวกับที่ผลิตในที่อื่นๆ   พวกเขาต้องฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่แตกต่างหรือมีไอเดียใหม่ๆมากกว่านี้..”

            ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามนุษย์เราจะมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดเมื่อตอนอายุ 14 ปี   หลังจากนั้น คนเรามักคิดอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมๆ   ทั้งที่จริงๆแล้วความคิดสร้างสรรค์สามารถฝึกฝนและเรียนรู้กันได้

            Duong Xuan Bao   เคยคิดที่จะฝึกสอนนักธุรกิจให้มีความคิดสร้างสรรค์ และให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ แต่เขาเปลี่ยนใจมาทุ่มเทให้กับการพัฒนาครูและนักเรียนให้รู้จักพัฒนาตนเองให้มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้

            นอกจาก Duong Xuan Bao แล้ว  เพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งที่ไปเรียนกับอัลต์ชูลเลอร์มาด้วยกัน ชื่อ Phan Dung ได้ตั้งศูนย์ความคิดสร้างสรรค์เชิงเทคนิคและวิทยาศาสตร์ขึ้นที่ Ho Chi Minh City National University  และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ TRIZ และความคิดสร้างสรรค์อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

            เขาทั้งสองมีความเชื่อที่ตรงกันอย่างหนึ่งว่าคลื่นลูกใหม่ต่อจากนี้ไปจะเป็นคลื่นแห่งความคิดสร้างสรรค์  เหมือนคลื่นลูกก่อน ๆ ที่เป็นคลื่นแห่งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และข้อมูลข่าวสาร

            Phan Dung ได้ฝากคำคมไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราได้ตกรถไฟแห่งยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม   และเราพลาดรถไฟแห่งยุคข้อมูลข่าวสารไปหลายขบวน ถ้าเราไม่ร่วมมือกันทำอะไรบางอย่างลงไป เราจะตกขบวนรถไฟแห่งยุคความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

“We missed the industrialization train, and to some extent , the information train.   If we do not get our act together, we will miss the creativity train as well.”

            คำคมนี้คงจะใช้ได้ดีไม่ใช่เฉพาะสำหรับเวียดนามเวียดนามเท่านั้น   แต่ยังน่าคิดสำหรับเมืองไทยอีกด้วย    ถ้าเรายังไม่ตื่นตัวในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบแล้ว   เราไม่เพียงจะตกรถไฟเท่านั้น   แต่ยังอาจถูกรถไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่มีเวียดนามนั่งอยู่นี้ ทับเอาจนโงหัวไม่ขึ้นและสายเกินกว่าที่จะตามทันได้

 เอกสารอ้างอิง

1.      Time to get creative , Vietnam Investment Review , 30  April 2007

2.      Viet Nam not using academic minds to their “full potential” ,  Vietnamnews ,

21 August 2004

3.      GDP Growth Comparison , www.mekongcapital.com ,etc

 

ตอบ: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์ บทเรียนจากเวียดนาม
โดย nong zzzz - พุธ, 18 กรกฎาคม 2007, 12:22AM
  รับทราบ และจะปฏิบัติตาม...ยิ้ม...ครับผม..