วิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยี ว่าด้วยเรื่อง ส้วม
โดย Trizit B - พุธ, 15 พฤศจิกายน 2006, 09:27AM
 

บังเอิญไปเจอข่าวนี้มา  เห็นว่าน่าสนใจในเชิงของ TRIZ  

ขอนำมาตั้งเป็นกระทู้ให้ถกเถียงกัน   ว่า  แนวโน้มส้วมจะวิวัฒนาการไปอย่างไรในอนาคต


เรื่องของสุขาหรือ “ส้วม” สำหรับถ่ายทุกข์ทั้งหนัก-เบานั้น “ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ” ไม่ต้องดูอื่นไกลอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างงานพืชสวนโลก ที่เกิดกรณีปัญหาเกี่ยวกับส้วม ก็เล่นเอาโกลาหลไม่น้อย และคงเพราะเรื่องส้วมก็เป็นเรื่องใหญ่นี่เอง ยุคนี้ประชาคมโลกถึงกับต้องมีการ “ประชุมเรื่องส้วมระดับนานาชาติ”
 
และปีนี้ไทยก็เป็นเจ้าภาพจัดงาน “ประชุมส้วมโลก 2006”
 
การประชุมส้วมโลก 2006 หรือ World Toilet Expo & Forum 2006 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 2549 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม เข้าร่วม ทั้งนี้ จะมีการอภิปรายหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง “การพัฒนาส้วมสาธารณะ” รวม ถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงส้วมไทย และส้วมแปลก ๆ ไอเดียสร้างสรรค์
 
ย้อนดูวิวัฒนาการของส้วมไทย นอกจากการปลดทุกข์ตามสุมทุมพุ่มไม้ ตามที่ลับตา ตามทุ่ง จนมีการเรียกว่า “ไปทุ่ง” ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ จากข้อมูลระบุว่าในสมัยสุโขทัยก็เริ่มมีส้วมเป็นกิจจะลักษณะแล้ว โดยโถส้วมสุโขทัยมีลักษณะเป็นหิน มีร่องรับการถ่ายเบา และช่องรับการถ่ายหนักอยู่ตรงกลาง เบา-หนักจะแยกไปคนละทางไม่ให้ปนกัน เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรง จะเรียกว่าเป็น “ภูมิปัญญา” เกี่ยวกับส้วมก็คงไม่ผิด
 
ส้วมในไทยมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับบุคคลชั้นสูง ซึ่งก็มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ไม่น้อย ส่วนกับบุคคลสามัญทั่วไปเรื่องของส้วมหรือที่สมัยก่อนเรียกว่า “เว็จ” นั้นในปี 2440 รัฐได้ออกพระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพฯ (ร.ศ.116) มีผลบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม ได้มีการจัดสร้างส้วม สาธารณะขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในหมวดที่ 2 มาตรา 8 ที่ให้กรมศุขาภิบาล “จัดเว็จที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชนทั่วไป”
 
“ส้วมหลุม” “ส้วมถังเท” เริ่มมีปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 ในกรุงเทพฯ และมีการเผยแพร่การใช้ส้วมหลุมออกไปในภูมิภาค การพัฒนาส้วมมีมาเป็นลำดับจนเกิด “ส้วมซึม” แบบโบราณ หรือ “ส้วมคอห่าน” ซึ่งคิดค้นโดย พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล สำหรับราชการมณฑลพิษณุโลก คิดทำขึ้นในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด สวรรคโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี 2467
 
หลังจากนั้น ในประเทศไทยก็มีการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างส้วมราดน้ำหรือส้วมคอห่านใช้ในบ้านอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2485 เป็นต้นมา และในปี 2503 รัฐบาล โดยความร่วมมือจากองค์การยูซ่อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มโครงการพัฒนาการอนามัยท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างส้วม และรณรงค์ให้ประชาชนถ่ายอุจจาระในส้วม และต่อมากรมอนามัยก็ได้ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบส้วมซึมเป็นระบบ “ส้วมถังเกรอะ”
 
ถึงยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมตะวันตกก็ทำให้ “ส้วมชักโครก” แพร่หลาย ไปทั่วไทย
 
เรื่องของ “ส้วม” ในเมืองไทยนั้นมีเกร็ดข้อมูลบันทึกอยู่ไม่น้อย ทั้งในเขตพระนครและจังหวัดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ว่าถึงจุดสำคัญของส้วมก็คือเรื่องของ “สุขอนามัย” ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคภัยหลาย ๆ โรค และนอกจากส้วมตามอาคารบ้านเรือนแล้ว “ส้วมสาธารณะ” ก็ถือว่าสำคัญ “ต้อง ให้ความสำคัญ” เช่นกัน
 
การประชุมส้วมโลก 2006 จึงมีการพูดถึงส้วมสาธารณะ
 
“ส้วมสาธารณะเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมานาน เรื่องความสะอาดไม่ค่อยมี รวมถึงคนพิการและคนสูงอายุก็เป็นกลุ่มที่ถูกละเลย แต่ปีที่ผ่านมาไทยเราได้พัฒนาเรื่องของส้วมสาธารณะให้มีความถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย”...รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมยศ เจริญศักดิ์ ระบุ และว่า...
 
การประชุมส้วมโลกที่จะมีขึ้นในไทยจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยเอาใจใส่เรื่องส้วมมากขึ้น และแสดงให้นานาชาติเห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนา ส้วมสาธารณะของไทย ทั้ง 11 สถานประกอบการ อาทิ ศาสนสถาน สวนสาธารณะ ปั๊ม ตลาดสด สถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และส้วมริมทางเท้า
 
ทั้งนี้และทั้งนั้น กับเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะ ด้านความปลอดภัย...ต้องไม่อยู่ในที่เปลี่ยว, กรณีมี 2 ห้องขึ้นไปควรแยกเป็นชาย-หญิงโดยมีป้ายที่ชัดเจน, ประตู ที่จับเปิด-ปิดและที่ล็อกต้องสะอาด อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี, มีแสงสว่างเพียงพอ มองเห็นได้ทั่วบริเวณ, พื้นห้องส้วมแห้ง ด้านความเพียงพอ...ต้องจัดให้มีส้วมนั่งราบสำหรับผู้พิการ ผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป อย่างน้อย 1 ที่, ต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ
 
ส่วน ด้านความสะอาด...พื้น ผนัง เพดาน โถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ต้องสะอาด อยู่ในสภาพดี, น้ำ ภาชนะเก็บกักน้ำ ขันตักน้ำ ต้องสะอาด เพียงพอ, กระดาษชำระมีพอเพียง สายฉีดน้ำชำระต้องสะอาด, อ่างล้าง มือ ก๊อกน้ำ กระจก ต้องสะอาด อยู่ในสภาพดี, มีสบู่ล้างมือ พร้อมให้ใช้ตลอด เวลาที่เปิดบริการ, มีถังรองรับขยะมูลฝอยที่สะอาด มีฝาปิด อยู่ในสภาพดี, มีการระบายอากาศดี ไม่มีกลิ่นเหม็น, ท่อระบายสิ่งปฏิกูลและถังเก็บกักน้ำไม่รั่วแตก, มีการทำความสะอาด และระบบการควบคุมตรวจตราเป็นประจำ เป็นต้น
 
ด้านความสะอาดนี้ส้วมส่วนบุคคลก็ควรยึดหลักเดียวกัน
 
“ส้วม” สำคัญทั้งในด้านการเป็น “ที่ปลดทุกข์”
 
และยังสำคัญต่อ “สุขอนามัย” ของคนทั่วโลก
 
อย่าได้มองข้ามความสำคัญ...ของ “ส้วม”.

จาก http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?ColumnId=30906&NewsType=2&Template=1

ตอบ: วิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยี ว่าด้วยเรื่อง ส้วม
โดย Trizit B - พุธ, 15 พฤศจิกายน 2006, 09:21AM
 

พูดถึงเรื่องส้วม   อยากให้ลองอ่านบทความเกี่ยวกับการพัฒนาส้วมแบบประหยัดน้ำสุดๆตามลิ้งข้างล่างนี้

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยการใช้เทคนิค QFD เชื่อมโยงกับTRIZ