ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - ศุกร์, 30 มิถุนายน 2006, 05:14PM
 

ทุกท่านเคยประสพปัญหานี้ไหมครับ
เวลาไปซื้อของตามห้าง Big C, Lotus หรือ คาร์ฟูร์ ช่วงที่คนเยอะๆ แล้วรอจ่ายตังค์ จะพบว่าต้องรอคิวนานเหลือเกิน

เห็นเขาทำช่องจ่ายเงินตั้ง 20-30 ช่อง แต่ก็ดันเปิดใช้ไม่กี่ช่อง คิวก็ยาวเหยียด แป๊ปๆก็มีไฟกระพริบมีปัญหา ก็ต้องรออีก แถมบางคนจ่ายบัตรเครดิต ยิ่งรอนานอีก พนักงานก็จัดของใส่ถุงไม่ได้ดังใจ ใส่ของสด(เปียก)ในถุงของแห้ง  แต่บางช่วง แหมเห็นพนักงานยืนว่างเม้าท์กระจาย ไม่มีลูกค้าแต่ก็ดันเปิดหลายช่อง ดูแล้วช่างเซ็งจริงๆ

โจทย์ข้อนี้ ผมยืนคิดขณะยืนเซ็งรอคิวอยู่ที่ Big C ราชดำริ (ขออภัยที่เอ่ยนาม เห็นพักนึงเคยมีทำโครงการแคชเชียร์มือไว แข่งกันว่าใครทำสถิติจำนวนชิ้นต่อนาทีได้สูงสุด แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร  idea พรรค์นี้คงมาจาก style ปกติของผู้บริหาร ชอบโทษว่าช้าเพราะพนักงาน ไม่ได้คิดว่า 80% ของปัญหาเกิดจากระบบ ซึ่งตัวเองต้องรับผิดชอบ) เลยลองสมมติว่า ถ้าตัวเองเป็นเจ้าของห้างกำลังจะสร้างใหม่ สมมติชื่อ โลตุ๊ด แล้วกัน จะมีปัญญาทำได้ดีกว่านี้ไหม

โจทย์ : ถ้าท่านเป็นเจ้าของห้างโลตุ๊ด จะออกแบบระบบ cashier ยังไงที่ทำให้ดีกว่านี้ ใช้คนน้อยกว่า ประหยัดกว่า มีประสิทธิภาพกว่า เร็วกว่า และไม่น่าทำให้ลูกค้าลดความพึงพอใจลง

โจทย์ข้อนี้เป็นปัญหาในระดับระบบเลย มีตัวประกอบเยอะแยะ คงมีอะไรสนุกแน่ๆ

ข้อห้าม : ห้ามใช้ RFID 

เช่นเคย ผมคิดคำตอบของผมไว้แล้ว ปลายสัปดาห์หน้าจะมาบอก แต่ก็อยากฟังท่านอื่นบ้างว่ามีวิธีคิดยังไง  ช่วยกันคิดหน่อยนะครับเพื่อพัฒนา TRIZ ในบ้านเรา หวังว่ากระทู้คงไม่เงียบเหงาอีกนะครับ

ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Trizit B - อังคาร, 4 กรกฎาคม 2006, 08:36AM
 

โจทย์ข้อนี้   น่าสนใจมากครับ   ถ้าใครคิดคำตอบได้เจ๋งๆ   คงไปจดสิทธิบัตรขายได้

เมื่อวานไปห้างโลตัสที่สถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุชมา   ชอบไอ้ที่เป็นจานหมุนมีแขนยึดถุงได้ 4 ขนาดหมุนได้ 4 ทิศ   สะดวกสำหรับพนักงานเก็บเงินไม่ต้องใช้มือเปิดและจับถุง   ก็สามารถหย่อนสินค้าลงถุงแล้วรวบได้ทันที  ประหยัดคนเอาสินค้าใส่ถุงไปได้ 1 คน   ไม่รู้ใครคิดขึ้นมา   สอดคล้องกับหลักการวิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยีของทริซในหัวข้อ 8 Evolution Toward Decreased Human Involvement

และเคยเห็นที่ร้านทะเคยะ(ตึกม่วง)ในกรุงโตเกียว  เป็นร้านขายปลีกราคาส่งที่คนไปซื้อกันเยอะมากโดยเฉพาะพวกกระเหรี่ยงต่างชาติ     พนักงานเก็บเงินแทนที่จะหยิบเครื่องสแกนบาร์โคดมาจ่อที่ตัวสินค้า   ซึ่งทำให้เสียมือไปข้างหนึ่ง(มือไม่ว่าง) แล้วบางทียังต้องเสียเวลาพลิกสินค้า(ด้วยมืออีกข้างหนึ่ง)เพื่อหาบาร์โคดบนตัวสินค้า   ทำให้เสียเวลาไม่สะดวก   เขาแก้ปัญหาโดยการให้เครื่องสแกนบาร์โคดฝังอยู่ใต้เคาน์เตอร์ซึ่งสามารถสแกนได้หลายมุมหลายทิศทาง พนักงานก็มีความเป็นอิสระมากขึ้น   สามารถใช้ 2 มือพลิกสินค้าไปมาให้เครื่องสแกนได้อย่างรวดเร็ว     แล้วส่งต่อสินค้าไปให้พนักงานอีกคนนำลงใส่ถุง(เขาไม่ใช้จานหมุนแบบห้างโลตัส  คงเป็นเพราะสถานที่แคบ)    อันนี้ คงเข้าหลักของ IE ที่ว่าด้วย Work Study    ถ้าจะมองจากมุมมองของทริซก็ได้เช่นกัน    คือเข้ากับหลักการที่ว่าด้วย Do it in reverse คือให้เครื่องสแกนบาร์โคดอยู่กับที่   จับตัวสินค้าเคลื่อนที่แทน

คงมีวิธีการปรับปรุงได้อีกเยอะครับ   ลองช่วยๆกันคิดดู    อาจใช้ทริซอย่างง่ายๆ หรือ อย่างยาก( ARIZ หรือ Contemporary TRIZ )  ก็แล้วแต่สะดวกครับ ช่างคิด

ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 03:47PM
 

มาตามสัญญาครับ

เริ่มจากวิเคราะห์ระบบเก่าก่อน พบว่ามี component ในระบบดังนี้
      สินค้า / ลูกค้า / รถเข็น / สายพาน / scanner / ถุง

และมี step ดังนี้   (ดูรูปประกอบ ดูสีของลูกศรด้วย)
step 0 : รถเข็นเข้ามาที่ช่อง cashier   (สีม่วง)
      รถเข็น -- บรรจุ -- สินค้า
step 1 : ลูกค้าหยิบสินค้ามาวางเรียงกันบนสายพาน  (สีแดง)
       ลูกค้า -- หยิบ -- สินค้า
       สายพาน -- บรรจุ -- สินค้า  
step 2 : cashier หยิบสินค้ามา scan โดยใช้ scanner   (สีน้ำเงิน)
       cashier -- หยิบ -- สินค้า
       cashier -- ใช้ -- scanner -- ตรวจ -- สินค้า
step 3 : cashier เตรียมถุงแล้วหยิบสินค้าใส่ถุง  (สีชมพู)
       cashier -- หยิบ -- ถุง
       cashier -- หยิบ -- สินค้า
       ถุง -- บรรจุ -- สินค้า   เกิดเป็น ถุง+สินค้า
step 4 : ลูกค้าจ่ายเงินให้ cashier (or credit card)   (สีดำ)
       ลูกค้า -- จ่ายเงิน -- cashier
step 5 : ลูกค้าหยิบ สินค้า+ถุง ใส่รถเข็น   (สีน้ำตาล)
       ลูกค้า --หยิบ -- ถุง+สินค้า
       รถเข็น -- บรรจุ -- ถุง+สินค้า

หลายปีก่อนเคยอ่านเรื่องการปรับปรุงเกี่ยวกับ airbag เห็นเขาเขียน function diagram แล้วสวยดี เลยขอเขียนบ้าง คงไม่ถูกต้องตามหลักการ แต่ก็อยากหัดเขียนครับ    (ดูรูป)


ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 03:52PM
 

(ต่อ)

เป้าหมาย/หน้าที่ ของระบบ cashier ของโลตุ๊ดคือ
- ตรวจสอบราคาสินค้า และรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้า
- สินค้าใส่ถุงเรียบร้อย
- ไม่ให้มีคิวยาว หรือลูกค้ารอนาน
- ใช้พื้นที่ให้คุ้มที่สุด  ลงทุนต่ำที่สุด


ต่อไปเริ่มการ Pruning ระบบ  หลักการง่ายๆคือ
- is this function necessary ?
- Can it be done by other component in the system or by itself ?

ทั่วไป ผมมักจะเลือกเดาตัวที่จะตัด (pruning) ดังนี้
- ลองตัด component ตัวที่มีจำนวน function ที่ไปกระทำ component อื่นน้อยที่สุด และไม่ค่อยถูก component อื่นกระทำ
- ถ้า component ไหนมีจำนวน function ไปกระทำตัวอื่นเยอะมาก ให้ลอง seperate มันเป็นส่วนย่อยๆดู แล้วค่อยดูว่ามีโอกาส pruning ส่วนไหนได้ แล้วค่อยกลับมา combine ใหม่ถ้าจำเป็น

จาก diagram จะเห็นว่า cashier มีงาน (function) เยอะเหลือเกิน ผมจะ seperate มันก่อน
พบว่า cashier มี function 3 ส่วนคือ
- scan สินค้า
- ใส่ถุง
- เก็บเงิน
ดังนั้นจึงแบ่ง cashier เป็น c1 (scan)  c2 (ใส่ถุง)  และ c3 (เก็บเงิน) และแก้ไข function diagram เป็นดังรูป


ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 04:17PM
 

(ต่อ)

ต่อไป พบว่า "สายพาน" มี function แค่อย่างเดียว และไม่โดนใครกระทำ น่าถูกตัดทิ้งที่สุด

มาคิดดูอีกที สายพานไม่มีก็ได้ ให้ c1 scan สินค้าในรถเข็นก็ได้ครับ
ได้ function diagram ดังรูป


ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 04:20PM
 

(ต่อ)

ต่อไป c1 ตัดทิ้งได้ไหม
คงยาก ถ้ายังไม่อยากให้ลูกค้าได้ของฟรี

c2 ล่ะ งานใส่ถุงไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองเลย
ให้คนอื่นทำแทนได้ไหม ?
โดยทั่วไป ห้าง discount store พวกนี้ ลูกค้าก็คงไม่ว่าอะไรที่จะ self-service อยู่แล้ว ดีกว่ายืนรอเฉยๆ อยากจะช่วยก็ช่วยไม่ได้แบบระบบปัจจุบัน ถ้าทำเองแล้วเร็วขึ้น ไม่เสียอารมณ์ก็ไม่น่ามีปัญหา
ดังนั้น งาน C2 ให้ลูกค้าทำแทนครับ
ได้ diagram ตามรูป


ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 04:37PM
 

(ต่อ)

ถ้า follow ระบบตาม diagram นี้ จะได้รูปแบบ cashier ดังนี้
- station แรก สำหรับ scan ราคาเท่านั้น ลูกค้าเข็นรถเข็นเข้ามา  c1 จะ scan สินค้าในรถเข็นเลย แล้วพิมพ์ bill ออกมา ให้ลูกค้า พร้อมกับส่งถุงจำนวน/ขนาด ที่เหมาะสมให้ลูกค้า    (station นี้ จะไม่มีสายพาน มีแต่เครื่องคอมสำหรับ scan และใช้ scanner แบบมือถือ จัด stationให้หันหลังชนกัน ยิ่งประหยัดเนื้อที่)
- ลูกค้าเข็นรถออกมาที่ area ปิดที่จัดไว้ ทำการใส่ของลงถุงตามใจชอบ อาจมีการติดที่ถ่างถุงไว้ที่รถเข็นเลย  ใน area นี้จะมีพนักงาน 1 คนเดินไปเดินมาแถวนี้คอยแจกถุงเพิ่ม   ระหว่างนี้ ลูกค้าก็ตรวจดู bill และเตรียมเงิน คราวนี้ จะควักเงินอืดอาดยืดยาดยังไงก็ไม่ทำให้คนอื่นต้องรอ
- ลูกค้าไปจ่ายเงินที่ station 2 โดยนำ bill พร้อมเข็นรถ ไปยื่นให้ C3 โดยลูกค้าได้เตรียมเงินไว้เรียบร้อยแล้ว

จ่ายเสร็จก็ออกจากบริเวณปิดนี้ได้ กลับบ้านได้ครับ   ดูรูป


ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 04:46PM
 

(ต่อ)

ข้อดีที่คิดออกของระบบโลตุ๊ดคือ
1. station 1 และ 2 จะทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการรอหรือทำสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งนั้น ทำให้รอคิวไม่นาน
2. เนื่องจาก cycle time ลดลง ดังนั้น จำนวน station 1 ก็ไม่ต้องมีถึง 20-30 ช่อง แค่ 10-15 ช่องน่าจะพอ  เช่นกันที่ station 2 ที่ทำหน้าที่รับเงินทอนเงินเท่านั้น ยิ่งเร็วกว่า ก็อาจใช้แค่ 5-8 ช่องก็พอ
3. นอกจากจำนวน station จะน้อยลงแล้ว แต่ละ station ยังใช้พื้นที่น้อยกว่า อุปกรณ์ก็น้อยกว่า ทำให้พื้นที่รวมที่ใช้ยิ่งน้อย และต้นทุน station ถูกกว่าด้วย
4. เวลามี load เยอะ/น้อย ก็เพิ่ม/ลด พนักงานใน station ที่เหมาะสมได้  ใช้จำนวนพนักงานน้อยลง และคุ้มค่า
5. ลูกค้าใส่ของลงถุงเอง อยากใส่อะไรในถุงไหนก็เชิญ  ลูกค้ามี activity ทำให้ลืมเซ็งได้

รูปแบบที่ใกล้เคียงของโลตุ๊ดที่สุด คงเป็น MAKRO ครับ ต่างกันที่ MAKRO ยังไงก็ไม่ให้ถุง และต้องรอจ่ายเงินจ่ายเสร็จค่อยพิมพ์ใบเสร็จ ซึ่งนานมากๆ แต่ก็ถือว่าใช้พื้นที่น้อย และเร็วกว่าเจ้าอื่นครับ

พิมพ์มาถึงตรงนี้ พอดีนึกข้อเสียอย่างร้ายกาจของระบบใหม่ได้ แต่ไม่บอกแล้ว ใครคิดออกก็ลองตอบด้วยครับ

ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Wison Bunsangsuk - เสาร์, 8 กรกฎาคม 2006, 05:20PM
 

(สุดท้าย)

รูปแบบอื่นๆ
- ให้ลูกค้าใส่สินค้าในถุงไว้ในรถเข็นตั้งแต่ตอนเลือกซื้อสินค้าเลย แล้ว c1 ทำการ scan สินค้าในถุงในรถเข็นเลย ทำให้ลดขนาด area สำหรับการใส่ถุงหลัง station 1 ได้อีก
- จากคำถามที่ว่า ให้ลูกค้า scan เองได้ไหม ทำให้ได้ idea นี้มา คือลูกค้าแต่ละครอบครัว จะได้ computer มือถือมา 1 เครื่อง เวลาเดินเลือกสินค้า อยากซื้ออันไหนก็แค่ scan barcode ของสินค้าตัวอย่างลงเครื่อง ไม่เอาก็ delete ออก  เสร็จแล้วก็เอา comp ไปยื่นที่ cashier พิมพ์ bill และจ่ายตังค์ จากนั้นก็ไปรอที่จุดที่กำหนด ซักพักพนักงานจะเข็นรถเข็นพร้อมสินค้ามาให้ โดยตรวจสอบกับ bill id  

ข้อดีของวิธีนี้คือ จะลดพื้นที่ส่วนที่ลูกค้าเดินเลือกซื้อของได้มโหฬาร เพราะมีแค่สินค้า sample 1 ตัวสำหรับให้ scan ก็พอ ไม่ต้องมีรถเข็นเกะกะไปมา  การหยิบสินค้าจริงจะเป็นหน้าที่ของพนักงานในคลัง ซึ่งอาจดูเหมือนว่าน่าจะใช้พนักงานมาก แต่ผมว่าจะตัดปัญหาลูกค้าวางของเกะกะ มั่ว สินค้าเสียหาย ไม่เก็บที่เดิมได้มาก control inventory ได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะลด total cost ได้  แถมระบบปัจจุบันก็เห็นพนักงานป้วนเปี้ยนไปมา ไม่ค่อยมีอะไรทำอยู่เต็มห้างอยู่แล้ว น่าจะจับมาทำแบบนี้ได้นะ

แต่ข้อเสียก็คงเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่ชิน และอาจไม่แน่ใจว่าพนักงานจะหยิบของดีมาให้ไหม กล่องบุบไหม หมดอายุหรือเปล่า สวยไหม ?
กรณีสินค้าที่ต้องเลือกจริงๆ เช่น ของสด คงต้องหาวิธีอื่น แต่กรณีลูกค้าวิตกจริตหรือ many story (เรื่องมาก) ก็คงต้องค่อยๆสร้างความน่าเชื่อถือไปเรื่อยๆ

ก็ขอจบ idea ทั้งหลายแหล่ตามนี้ ถึงตรงนี้ก็หลายกระทู้แล้ว รู้สึกว่าตัวเองบ้าบอมาก หาเวลาว่างจากร้านมานั่งถามเองคิดเองตอบเองเออเอง ดูเหมือนไม่มีการร่วมเสวนาอะไรกันเลยสำหรับชุมชนนี้  ทีพวก webboard ที่แสดงความเห็นไร้สาระกลับมีคนร่วมกันออกความคิดมากมาย ช่างน่าเศร้าใจจริงๆครับ

ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย sathit manyothai - พฤหัสบดี, 13 กรกฎาคม 2006, 03:27PM
  เคยพบที่ ห้างขนาดเล็ก ที่ จ. กาญจน์ จะใช้ พนักงาน อีก 1 คน คัดกรอง สินค้าก่อนเข้าแคชเชียร์ โดยจะแยกประเภทของ สินค้าเป็นชนิดๆ ที่จะใส่ถุงเดียวกัน ตามกฎเกณฑ์ของห้าง ให้พนักงานคิดเงิน หยิบใส่ถุง และมีพนักงานอีก1คน คอยหยิบของลงถุง ส่งให้ลูกค้า ที่รถเข็น เป็นอันเสร็จขั้นตอน ซึ่งดูเป็นการทำงานในระบบสายพาน ที่1คนจะทำ1 หน้าที่ ไม่เหมืนกับระบห้างใหญ่ที่ 1คนทำหลายหน้าที่ โดยที่ลูกค้าจะรอคิว จ่าย-รับเงินทอน และรับสินค้าอย่างเดียว (ห้างนี้มี 4 ช่องแคชเชียร์ )
ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Trizit B - จันทร์, 17 กรกฎาคม 2006, 09:01AM
 

ไอเดียเรื่องการให้ลูกค้าบริการใส่สินค้าลงถุงด้วยตนเอง  น่าสนใจครับ      เข้ากับหลักการของ TRIZ ข้อ 25. การช่วยตัวเอง (Self-service) 

Supermarket ตามห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะทำเช่นนั้น  โดยเป็น Process สุดท้าย หลังจากที่ผ่านการสแกนและเก็บตังแล้ว    จะมีโต๊ะพร้อมถุงหลายไซด์ให้ลูกค้าไปเลือกใส่ตามความเหมาะสม       ถ้าเป็นเมืองไทย   ถุงอาจจะหมดบ่อยก็ได้    อาจต้องเปลืองคนคอยแจกถุงอย่างทีคุณวิสันต์ว่าก็ได้    ที่แมคโครตรงบริเวณอาหารสด  จะมีถุงแบบม้วนให้ลูกค้าดึงออกมาใส่อาหารด้วยตนเอง   ใครขืนดึงออกมายาวๆ   คงผิดสังเกตุ

ส่วนเรื่องแยก Process Scan กับ Process เก็บตัง  น่าสนใจครับ   ยังไม่เคยเห็นที่ไหนทำกัน    ไม่ทราบติดขัดปัญหาอะไรหรือครับ

ตอบ: ปัญหารอคิวนาน
โดย Trizit B - เสาร์, 29 กรกฎาคม 2006, 03:46PM
 

วันนี้แม่บ้านไม่อยู่     เลยต้องไปจ่ายกับข้าวเองที่ร้านพลังบุญ  สันติอโศก   ถนนนวมินทร์       เจอไอเดียที่เจ๋งกว่า     เลยขอเอามาฝากไว้

คือที่นี่เขารณรงค์ไม่ใช้ถุงก็อบแก๊บหรือถุงกระดาษเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม    ดังนั้น เขาจะไม่มีถุงแจกให้    ผู้ซื้อต้องเตรียมถุงไปเอง  หรือ ซื้อถุงผ้าจากเขา  นำไปใส่เอง

เป็นร้านแบบร้านสะดวกซื้อ  แต่ใหญ่กว่าสัก 2 เท่า  เน้นอาหารและของใช้แบบไร้มลพิษหรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น     โต๊ะเก็บเงินมี 2 สเตชั่น   ยังไม่มีระบบสแกนบาร์โค๊ด    แต่ก็นับว่าลูกค้าให้ความร่วมมือดีมาก  หิ้วถุงกันมาเอง   พอจ่ายเงินเสร็จ   ก็หิ้วตะกร้าหรือเข็นรถมาบรรจุสินค้าลงถุงเอง

ประหยัด 2 ต่อ  คือ ประหยัดถุง  และ  ประหยัดคนบรรจุสินค้าลงถุง  แถวยังขายถุงผ้าได้ด้วย เห็นด้วย